ศาสตร์ของในหลวง
จอมปราชญ์แห่งน้ำ
พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถที่เราควรจะตามรอยพระบาทพระองค์ท่าน หากเรามองให้ลึก จากสิ่งที่พระองค์ทำ
พระองค์ตรัส พระองค์ดำริ จะยิ่งเข้าใจยิ่งขึ้นว่า หลักการจัดการน้ำ
ของพระองค์นั้น แท้จริงไม่ได้ซับซ้อนเป็นเรื่องยากแต่อย่างได้
แต่อยู่บนพื้นฐานของการ เฝ้าสังเกต ใส่ใจ
และเพียรพยายามในการบริหารจัดการอย่างถึงแก่น
หลักการทรงงานของในหลวง
ในการบริหารจัดการน้ำ พระองค์จะศึกษาจากแผนที่ ทำการบ้านศึกษาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทรงตรวจสอบข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่
ใช้หลักการพัฒนาจะต้องวางให้สอดคล้องกับภูมิประทศและคน ทรงศึกษาก่อนที่จะทรงทำอะไร
ตราบใดที่ยังไม่บรรลุปรุโปร่งไม่สุดปลายของปัญหาพระองค์จะไม่ทรงหยุด โดยเฉพาะเรื่อง “น้ำ” ทรงเตือนว่า “ระวังนะ
อย่าไปรังแกธรรมชาติ หากไปรังแกมากๆ เขาจะโกรธเอา
และเขาจะทำร้ายเรา” นั่นคือทรงแนะให้เราอยู่กับน้ำตามธรรมชาติ
อย่าฝืนธรรมชาติ เพราะผลกระทบที่กลับมาอาจจะเกิดความเสียหายรุนแรงได้
ปรัชญาในการบริหารน้ำของในหลวง
“การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น
ในหลักใหญ่คือ การควบคุมน้ำให้ได้ดั่งประสงค์ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ
เมื่อน้ำมีปริมาณมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือนร้อนเสียหายได้ และขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน
ก็ต้องมีน้ำเก็บกักไว้ใช้อย่างพอเพียง
ทั้งมีคุณภาพเหมาะสมกับการเกษตร
การอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภค
ปัญหาอยู่ที่ว่าการพัฒนาแหล่งน้ำอาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้นก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสูญเสีย
ทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลกระทบกระเทือนแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง”
ก. การอนุรักษ์ต้นน้ำ
๑. การพัฒนาแหล่งน้ำ ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสในการพัฒนาแหล่งน้ำ
ความว่า “...ต้นไม้ที่จะปลูกทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้นควรใช้ต้นไม้โตเร็วที่มีประโยชน์หลายๆ
ทางคละกันไปและควรปลูกพืชคลุมแนวร่องน้ำต่างๆ
เพื่อยึดผิวดินและให้เก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้
นอกจากนั้นจะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมือง ไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้ง ๒ ด้าน ซึ่งจะทำให้น้ำค่อยๆ
แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นให้บริเวณนั้นด้วย...”
การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธารตามแนวพระราชดำริ
เป็นการหาวิธีเก็บกักน้ำเอาไว้ในบริเวณแหล่งต้นน้ำลำธารเอาไว้ให้นานที่สุด
โดยการทดและเก็บกักน้ำที่ไหลบ่าลงมาไว้ในลำน้ำคล้ายกับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กโดยให้กระจายอยู่ทั่วไปตามบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อให้น้ำที่เก็บกักเอาไว้ได้ซึมเข้าไปในดินตามตลิ่งและท้องน้ำ เข้าไปเก็บอยู่ตามช่องว่างระหว่างเม็ดดิน ทำให้ปริมาณน้ำบริเวณแหล่งต้นน้ำลำธาร มีเพิ่มมากขึ้นซึ่งก่อให้เกิดความชุ่มชื้นของดินบริเวณนั้น
กระทั่งส่งผลทำให้ลำธารหรือลำห้วยดังกล่าวมีน้ำไหลอยู่ตลอดปีทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ทำให้สภาพป่าต้นน้ำมีความชุ่มชื่น
และอุดมสมบูรณ์อำนวยประโยชน์ต่อการทำมาหากินของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตลุ่มน้ำนั้นๆ
ได้อย่างดีและทั่วถึง
๒. “การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” ในหลวงทรงคิดวิธีบริหารจัดการน้ำและการปลูกป่าด้วยวิธีง่ายๆ
นั่นคือ “การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” ผืนดิน ต้นน้ำ ลำธาร
ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ก่อเกิดพืชพรรณที่หลากหลายและเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่
เป็นผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ได้เองตามธรรมชาติ
ความช่วยเหลือที่มนุษย์ต้องช่วยธรรมชาติ คือ “เก็บกักน้ำ” เอาไว้ให้ผืนป่าดูดซับความชุ่มชื้น
เป็นที่มาของ “ฝายชะลอน้ำ” ที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีขั้นสูงใดๆ
มาช่วย ใช้เพียงแค่ดิน ต้นไม้
ใบไม้ ซากไม้ ที่ปรักหักพังใส่เข้าไป เท่านี้ก็ได้
“ฝายดิน” เล็กๆ ที่แข็งแรง ทำหน้าที่เก็บกักน้ำเอาไว้ สร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าได้นานขึ้น ทรงใช้หลักการเดียวกับ “ถุงน้ำเกลือ”
ที่ส่งน้ำเกลือสู่ร่างกายที่ละหยด
ทรงคิดต่อยอดว่า หากเกิด
“ถุงน้ำเกลือ”(คือฝายดิน)
เก็บกักน้ำเป็นกระเปาะเล็กๆ หลายๆ จุดกระจายทั่วผืนป่า ก็จะเกิดความชุ่มชื้นทั่วภูเขา
ความอุดมสมบูรณ์ของป่าก็ยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้นตามไปด้วย
๓. “Wet Fire Brake” ในหลวงทรงตรัสว่า
Wet
Fire Brake หรือ การใช้ความชื้นสกัดไฟป่า
ในป่าใบไม้ที่ร่วงทับถมกันจะมีความชื้น
จะป้องกันการเกิดไฟป่าในตัว การเก็บใบไม้ออกหมด
เป็นการทำลายความชุ่มชื้นในผืนดินออกไป
ทำให้เกิดไฟป่าได้ง่ายกว่า การ Wet Fire Brake นอกจากจะให้ธรรมชาติ ได้สร้างสมดุลในตัวเองแล้ว
ความชุ่มชื้นในป่าจะทำให้ไฟป่าลดลง
๔.ฝายชะลอความชุ่มชื้น หรือ Check Dam หมายถึง
สิ่งก่อสร้างขวางกั้นทางเดินน้ำ เช่น ลำห้วยขนาดเล็กในบริเวณต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง เพื่อชะลอน้ำหรือความชุ่มชื้นให้หมุนเวียนภายในบริเวณนั้นๆ
ทำให้ดินชุ่มฉ่ำ
ป่าไม้เขียวขจีและกระจายความชุ่มชื้นไปยังบริเวณโดยรอบ ทั้งเป็นแนวป้องกันไฟป่า
ชะลอน้ำที่เชี่ยวกรากในฤดูน้ำหลาก
กักเก็บตะกอนหรือหน้าดินไม่ให้ไหลลงลุ่มน้ำตอนล่าง
ฝายชะลอความชุ่มชื้น
มี ๒ ประเภท คือ ฝายรักษาความชุ่มชื้น และฝายดักตะกอน แบ่งออกเป็น ๓ แบบ คือ
๑. ฝายท้องถิ่น
ก่อสร้างได้ง่ายโดยวัสดุธรรมชาติ
เช่น กิ่งไม้ ท่อนไม้ ขนาบด้วยก้อนหินขนาดต่างๆ ในบริเวณตอนบนของลำห้วยหรือร่องน้ำ หรือสร้างด้วยท่อนไม้ขนาบด้วยถุงบรรจุทราย
หรือก่อสร้างแบบคอกหมูแกนดินอัดขนาบด้วยหินแบบเรียงหิน แบบคอกหมูหินทิ้ง แบบคอกหมูถุงทรายซีเมนต์ แบบหลักคอนกรีตหินทิ้ง แบบถุงทรายซีเมนต์ แบบคันดิน
แบบหลักไม้ไผ่สานขัดกัน
ซึ่งเป็นรูปแบบฝายดั่งเดิมของชาวบ้าน อาจทำด้วยตนเองหรือระดมแรงลงแขก เป็นฝายที่มีค่าใช้จ่ายน้อยหรืออาจจะไม่มีเลย
๒.
ฝายเรียงด้วยหิน เรียงก้อนหินเป็นพนังกั้นน้ำบริเวณตอนกลาง หรือตอนล่างของห้วย
หรือร่องน้ำ ใช้ดักตะกอนและเก็บกักน้ำหน้าแล้ง
๓.
ฝายคอนกรีต สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กแบบถาวรที่บริเวณปลายลำห้วย ใช้ดักตะกอนและเก็บกักน้ำได้ดีในฤดูแล้งค่าก่อสร้างประมาณ
๔-๕ หมื่นบาทสำหรับลำห้วยกว้างไม่เกิน
๔ เมตร
การก่อสร้างฝายกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ
๑. สำรวจสภาพพื้นที่ วัสดุธรรมชาติที่จะใช้ก่อสร้าง
กำหนดรูปแบบฝายกั้นน้ำที่เหมาะสมและสัมพันธ์กับภูมิประเทศให้มากที่สุด
๒. คำนึงถึงความแข็งแรงของฝาย ไม่ให้เสียหายหรือพังทลายเมื่อฝนตกหนักหรือกระแสน้ำแรง
๓.
ก่อสร้างในพื้นที่ที่ช่องลำห้วยลาดชัน
เพื่อให้ฝายมีขนาดพอเหมาะสามารถกักน้ำและตะกอนได้พอสมควร
ในลำห้วยที่มีความลาดชันมากควรสร้างฝายให้ถี่ขึ้น
ข. การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานพระราชดำริเป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำท่วมไว้ ๕
รูปแบบ คือ
๑. การสร้างคันกั้นน้ำ
จะทำขนานตามลำน้ำ
ห่างจากขอบตลิ่งพอประมาณเพื่อกั้นน้ำที่มีระดับสูงกว่าตลิ่งไม่ให้ไปท่วมพื้นที่สำคัญ
๒. การสร้างทางผันน้ำ หรือ ฟลัดเวย์ เป็นการขุดคลองสายใหม่หรือช่องทางระบายน้ำอุทกภัยเพื่อเป็นทางระบายเชื่อมต่อลำน้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม
ผันน้ำที่ล้นตลิ่งให้ไหลไปลงลำน้ำสายอื่นหรือระบายออกสู่ทะเล
๓. การปรับปรุงสภาพลำน้ำ
เป็นการปรับปรุง ปรับแต่ง ขุดลอก
คูคลอง
ตื้นเขินให้ลึกขึ้นให้น้ำไหลสะดวกเร็วขึ้นกว่าเดิม หรือบริเวณลำน้ำที่มีแนวโค้งมากในลักษณะกระเพาะหมูอาจจะขุดทางน้ำตัดตรงให้น้ำไหลตามทางน้ำที่ขุดใหม่
เช่นคลองลัดโพธิ์
๔. การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ
เป็นการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำระหว่างหุบเขาหรือเนินสูงที่บริเวณต้นน้ำสายใหญ่ เพื่อปิดกักน้ำตามธรรมชาติไว้เหนือเขื่อน และมีโครงการพระราชดำริแก้มลิงเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำและเก็บกักน้ำ
๕. การระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม
เป็นการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งมีน้ำขังอยู่นานหลายเดือนในแต่ละปี จนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ การระบายน้ำออกนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้วยังสามารถใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ในการเพาะปลูกได้อีกด้วย
แก้มลิง แนวพระราชดำริแก้มลิง
เป็นแนวทางบรรเทาปัญหาน้ำท่วมโดยจัดหาพื้นที่รองรับและเก็บกักน้ำในช่วงฝนตกมีน้ำมาก และระบายออกในช่วงที่น้ำลดลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำลักษณะการเก็บอาหารของลิง เมื่อส่งกล้วยให้จะนำใส่ปากเคี้ยว และเก็บไว้ที่กระพุ้งแก้ม ก่อนนำออกมากลืนกินภายหลัง
๑. การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ระดับชุมชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และท้องที่
รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถร่วมกันแก้ปัญหาน้ำท่วม ตามแนวพระราชดำริได้ คือ
๑) สร้างพื้นที่รับน้ำ
หาพื้นที่รับน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลบ่าลงพื้นที่ล่าง
๒) ดำเนินการเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม คือ งานขุดคลอง หรือ
ปรับปรุงคลองระบายน้ำที่มีอยู่
เพื่อให้สามารถระบายน้ำจำนวนมากออกจากพื้นที่ โดยให้ไหลลงสู่แม่น้ำสายใหญ่อย่างสะดวก จนกระทั่งสามารถใช้พื้นที่นั้นๆ มาใช้เพาะปลูกได้ในเวลาที่ต้องการ
๓)
นอกจากต้องมีการขุดหรือปรับปรุงคลองระบายน้ำดังกล่าวแล้ว
จึงต้องมีการสร้างประตูหรือท่อระบายน้ำเอาไว้ที่ปลายคลองระบายน้ำด้วย โดยนอกจากจะเป็นการควบคุมการเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ในยามจำเป็นแล้ว ยังเป็นการป้องกันน้ำจากบริเวณด้านนอกไม่ให้ไหลย้อนเข้าไปในพื้นที่อีกนั่นเอง
๔) อาจต้องพิจารณาสร้างโรงสูบน้ำขนาดใหญ่
เพื่อสูบน้ำภายในพื้นที่ออกทิ้งไปในช่วงเวลาที่ระดับน้ำภายนอกมีระดับสูงอีกด้วย
๒. การขุดลอกหนองบึง ในหลวงได้พระราชทานพระราชดำริว่า
“ควรสำรวจหาหนองน้ำธรรมชาติ เพื่อดำเนินการปรับปรุง
ให้สามารถเก็บสำรองน้ำฝนได้ตลอดทั้งปี
จะได้เป็นแหล่งเก็บน้ำสำหรับการเพาะปลูก
การอุปโภคบริโภคและการประมง”
“ในท้องที่ซึ่งมีหนองและบึงนั้น
หนองและบึงจะเก็บกักน้ำในฤดูน้ำหลาก
ทำให้มีน้ำใช้ในยามหน้าแล้งเหมือนกับอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว เมื่อหนองบึงอยู่ในสภาพตื้นเขินจนใช้การไม่ได้ดังแต่ก่อน
และพื้นที่หลายส่วนถูกยึดครองไปโดยไม่เป็นธรรม
ผลสุดท้ายความทุกข์ยากเนื่องขากการขาดแคลนน้ำของชุมชนนั้นจะต้องเกิดขึ้น การบูรณะฟื้นฟูแหล่งน้ำตามธรรมชาติต่างๆ
ที่ตื้นเขิน
โดยการขุดลอกพัฒนาแหล่งน้ำเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้น
๓. การขุดสระเก็บน้ำ ตามทฤษฎีใหม่ สระเก็บน้ำเป็นแหล่งเก็บน้ำฝน น้ำท่า
หรือน้ำที่ไหลออกมาจากดิน
ทำได้โดยการขุดดินให้เป็นสระสำหรับเก็บขังน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นสระที่มีความจุน้อย
นิยมสร้างในท้องที่ซึ่งไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือท้องที่ที่ไม่เอื้ออำนวยให้ทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เมื่อขุดสระเก็บน้ำแล้ว
ย่อมสามารถเก็บขังน้ำที่มีมากในฤดูฝนเอาไว้ได้จนกระทั่งเมื่อถึงฤดูแล้ง ก็สามารถนำน้ำในสระมาใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรผสมผสานได้เป็นอย่างดี
๔. ฝนหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง
ฝนทิ้งช่วงและฝนไม่ตกในพื้นที่เกษตรกรต้องการ ภายหลังยังช่วยบรรเทาปัญหาไฟป่าและหมอกควันปกคลุม หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
หากมีปัญหาดังกล่าวข้างต้น
สามารถประสานขอฝนหลวงผ่านทางสำนักงานเกษตรและสหกรณ์อำเภอ หรือ ที่สนามบิน จ.แพร่
และ สนามบิน จ.เชียงใหม่
ค. การแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ
ทฤษฎีและวิธีการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ ประกอบด้วย
๑. น้ำดีไล่น้ำเสีย คือ
การทำให้เจือจางโดยใช้น้ำคุณภาพดีช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสีย
เป็นการนำระบบการเคลื่อนไหวของน้ำตามธรรมชาติมาจัดระเบียบแบบแผนขึ้นใหม่ นับเป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในเชิงอนุรักษ์
ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่เรียบง่ายอย่างได้ผลดี โดยให้ใช้น้ำที่มีคุณภาพดีจากแม่น้ำหรือแหล่งน้ำภายนอกส่งเข้าไปยังแหล่งน้ำของชุมชนภายในเมืองตามคลองต่างๆ หรือแหล่งที่น้ำเสีย
เพื่อให้น้ำดีจากแม่น้ำช่วยผลักดันและเจือจางน้ำเน่าเสียออกจากแล่งชุมชนต่างๆ
๒. กังหันน้ำชัยพัฒนา
เป็นการบำบัดน้ำเน่าเสียด้วยระบบการเติมอากาศ กังหันน้ำชัยพัฒนา
หรือเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย เป็นอุปกรณ์บำบัดน้ำเสียชนิดหนึ่งมีลักษณะการทำงานคล้ายกังหันวิดน้ำขึ้นเหนือผิวน้ำเพื่อเติมอากาศหรือออกซิเจนในแหล่งน้ำ
เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเริ่มเผชิญปัญหาน้ำเสีย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาและประดิษฐ์อุปกรณ์เติมอากาศขึ้นเมื่อ
พ.ศ.๒๕๓๑ แล้วทรงมอบหมายมูลนิธิชัยพัฒนาศึกษาวิจัย
เพื่อทำต้นแบบพร้อมสนับสนุนงบประมาณให้กรมชลประทานสร้าง นำไปใช้งานตามแหล่งน้ำเสียทั่วประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทูลเกล้าฯ
ถวายการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ ๓๑๒๗
และองค์กรนักประดิษฐ์โลกจากประเทศเบลเยี่ยมได้ทูลเกล้าถวายรางวัลในฐานะที่ทรงสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม
(สามารถศึกษารายละเอียดแบบการทำได้ที่
http://job.haii.or.th/wiki84new/index.php/ค-เครื่องกลเติมอากาศ)
๓. การบำบัดน้ำเน่าเสียโดยวิธีธรรมชาติ เช่น
การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบหญ้ากรองน้ำเสีย
โดยการปลูกกกธูป
๔. การกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา ผักตบชวามีคุณสมบัติในการดูดสารพิษ
สารเคมีและโลหะหนักที่อยู่ในน้ำได้ดี
โดยปลูกผักตบชวาในคอกไม้ที่กั้นขวานลำน้ำเป็นระยะ
และผักตบชวาเหล่านี้จะถูกเก็บขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ คือ ทำปุ๋ย หรือ เชื้อเพลิงตามความเหมาะสม ผักตบชวาเป็นเสมือน “ไตธรรมชาติ” ที่ทำหน้าที่เก็บกักน้ำและฟอกน้ำเสีย
จากแนวทาง “ศาสตร์ของในหลวง” ใน “การอยู่กับสายน้ำ”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายตลอดจนกำลังพระราชหฤทัยเพื่อทรงหาวิธีการป้องกันและแก้ไขมาตลอดระยะเวลา
๖๕ ปี แห่งการครองราชย์
ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนที่จะนำมาปรับใช้ เพื่อที่จะได้ อยู่กับสายน้ำ ได้อย่างปกติสุข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น